เล่นโยคะ ฝึกโยคะ ทำโยคะ เรียนโยคะ เรียกรวมเป็นที่เข้าใจว่า “โยคะ” แต่ด้วยเพราะภาพในความคิดของหลายๆ คนจะนึกถึงเพียงการทำท่าทางประหลาด ท่าดัดตัว ท่าพิศดารหวือหวาที่ในชีวิตประจำวันเราไม่ทำ .. ขออธิบายว่า “ท่า” หรือ อาสนะนั้น คือใบเบิกทาง เป็นหนึ่งในวิธีการ และอยู่ในองค์รวมของวิถีแห่งโยคะ
แต่ถ้ากล่าวถึงโยคะ ภาพใหญ่จะมุ่งไปที่วิธีใดๆ ที่นำสู่กระบวนการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะจิตใจ ร่างกาย และเกิดประสบการณ์เฉพาะตน
ตอน 1 – ชญานโยคะ ภัคติโยคะ มนตราโยคะ (fbโพสต์ 21/06/24)
โยคะนำเสนอวิธีที่จะช่วยให้บรรลุถึงจิตใจที่กระจ่างแจ้งหลายวิธีด้วยกัน แต่ละวิธีมีจุดเน้นที่ต่างกัน ในหนังสือภควัทคีตา กล่าวถึงรูปแบบของโยคะไว้ถึง 18 รูปแบบ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะ 9 รูปแบบได้แก่ ชญานโยคะ ภัคติโยคะ มนตราโยคะ ราชาโยคะ กรรมโยคะ กริยาโยคะ กุณฑลินีโยคะ หฐโยคะ และตันตระโยคะ
ชญานโยคะ – ชญาน (jnana)หมายถึง “ความรู้” เน้นการค้นหาความรู้ที่แท้จริงแต่ดั้งเดิมโดยเริ่มต้นที่การฟังคำสอนของครูผู้อธิบายคัมภีร์โยคะเก่าแก่ให้แก่ศิษย์ ศิษย์ใคร่ครวญ แลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่น ๆ ทำความเข้าใจในประเด็นที่สงสัย นำไปสู่การตระหนักถึงความเป็นจริงอย่างช้า ๆ และเป็นหนึ่งเดียวกับความรู้นั้น
สมมุติฐานของชญานโยคะ คือ ความรู้ทั้งหมดนั้นนอนเนื่องอยู่ภายในตัวเรา เราเพียงแต่ต้องค้นให้พบเท่านั้น (ตื่น)
ภัคติโยคะ – ภัคติ (bhakti) มาจากรากศัพท์ว่าภัช (bhaj)หมายถึง “รับใช้” ไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล แต่หมายถึงพลังที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา ความคิดนี้ถูกอธิบายเชื่อมโยงกับการฝึกอิศวรประณิธาน การปฏิบัติตามภัคติโยคะเราอุทิศความคิด และการกระทำทุกอย่างของเราแด่พลังที่สูงส่งกว่า ทุกสิ่งที่มองเห็น สรรพชีวิตทั้งหลาย ตระหนักถึงพระเจ้าซึ่งก็คือ “ความจริงแท้ “
มนตราโยคะ – มนตราหนึ่ง ๆ อาจเป็นคำพยางค์เดียว หรือกลุ่มคำ หรือ วลี แต่ดั้งเดิมครูจะเป็นผู้ถ่ายทอดมนตราที่เหมาะสมให้แก่ศิษย์ ความหมายและพลังพิเศษของมนตราขึ้นอยู่กับวิธีการถ่ายทอดและการนำมนตรามาร้อยเรียงกัน ส่วนใหญ่อาจเชื่อมโยงกับภาพจริงหรือภาพในจินตนาการ
ถ้าเราปฏิบัติอย่างต่อเนื่องโดยบริกรรมมนตราตามที่ถูกสอน มนตราโยคะก็จะให้ผลเช่นเดียวกับชญานโยคะและภัคติโยคะ
อ้างอิง: The heart of yoga หัวใจแห่งโยคะ หน้า 277 เขียน ที.เค.วี.เทสิกาจารย์ แปลธีรเดช อุทัยวิทยารัตน์
0 comments